สิทธิมนุษยชนในกระแสโลกาภิวัตน์

สว่าง กันศรีเวียง

สิทธิมนุษยชนคืออะไร

สิทธิมนุษยชน (Human Rights) หมายความถึง สิทธิความเป็นมนุษย์หรือสิทธิในความเป็นคน อันเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนที่เกิดมา สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่ไม่สามารถโอนให้แก่กันได้ และไม่มีบุคคล องค์กร หรือแม้แต่รัฐ สามารถล่วงละเมิดความเป็นมนุษย์นี้ได้ สิทธิในความเป็นมนุษย์นี้เป็นของคนทุกคน ไม่เลือกว่าจะมีเชื้อชาติ แหล่งกำเนิด เพศ อายุ สีผิว ที่แตกต่างกันหรือจะยากดีมีจนหรือเป็นคนพิการ สิทธิมนุษยชนนั้นไม่มีพรมแดน การกระทำใดที่มนุษย์กระทำต่อกันอย่างหยามเกียรติและละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นคน ไม่ว่าจะเกิดแก่มนุษย์ที่ประเทศใด และไม่ว่า ผู้กระทำการละเมิดจะเป็นบุคคล กลุ่มบุคคล หรือรัฐใดรัฐหนึ่งก็ตาม ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

การจะเข้าใจความหมายของสิทธิมนุษยชนนั้น จำเป็นต้องเข้าใจหลักการต่างๆ ที่ถือเป็นองค์รวมของสิทธิมนุษยชนด้วย คือ

1) สิทธิ (Rights)

สิทธิเป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์ทุกคนตามธรรมชาติที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งไม่มีใครล่วงละเมิดได้ คนทุกคนที่เกิดมามีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่รอด และต้องมีชีวิตอยู่อย่างสมเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ความมีอยู่ของสิทธิตามธรรมชาตินี้ แม้เมื่อยังไม่มีกฎหมายมารองรับ สิทธิก็ยังมีอยู่

2) เสรีภาพ (Freedom)

เสรีภาพหมายถึง การที่มนุษย์สามารถทำอะไรก็ได้ภายใต้ขอบเขตของ ศีลธรรมอันดีงาม โดยไม่เบียดเบียนสังคม หรือไม่ล่วงล้ำสิทธิของบุคคลอื่น หรือสิทธิของส่วนรวม เราจึงเห็นว่ามีการใช้คำ 2 คำนี้พร้อมกัน คือสิทธิ และเสรีภาพ ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (Universal Declaration of Human Rights) มักจะใช้คำว่าสิทธิและเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นและแสดงออก หรือสิทธิและเสรีภาพในการเลือกคู่ครองและสร้างครอบครัว เป็นต้น

3) ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Dignity)

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นคำที่อธิบายความหมายของสิทธิมนุษยชน ในแง่ของการให้คุณค่าแก่ความเป็นคนว่า คนทุกคนมีคุณค่าเท่าเทียมกัน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นหลักการสำคัญของสิทธิมนุษยชนที่กำหนดสิทธิที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ใครจะละเมิดไม่ได้ และไม่สามารถ่ายโอนให้แก่กันได้ สิทธินี้คือสิทธิในการมีชีวิตและมีความมั่นคงในการมีชีวิตอยู่ คนทุกคนที่เกิดมาบนโลกมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้นการปฏิบัติต่อกันของผู้คนในสังคมจึงต้องเคารพความเป็นมนุษย์ ห้ามทำร้ายร่างกาย ทรมานอย่างโหดร้าย หรือกระทำการใดๆ ที่ถือเป็นการเหยียดหยามความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ได้รับการรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศ อนุสัญญา และปฏิญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ

สังคมปัจจุบันมักละเลยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะมีการให้คุณค่าของคนแตกต่างกัน สังคมทั่วไปให้คุณค่าของความเป็นคนที่สถานภาพทางสังคมของผู้นั้น เช่น เป็นกำนัน เป็นนายทหาร เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้พิพากษา สถานภาพทางสังคมของคนแต่ละคน ไม่ใช่ตัวชี้วัดว่ามนุษย์หรือคนคนนั้นมีศักดิ์ศรีของมนุษย์หรือไม่ แต่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คือการให้คุณค่าความเป็นคนตามธรรมชาติของมนุษย์ไม่ว่าจะเกิดมาพิการ เป็นเด็ก เป็นผู้หญิง ผู้ชาย กะเทย เกิดมาเป็นคนปัญญาอ่อน หรือยากจน คนทุกคนที่เกิดมาถือว่ามีคุณค่าเท่ากัน ต้องปฏิบัติต่อกันเยี่ยงมนุษย์อย่างเสมอหน้ากัน เพราะการปฏิบัติต่อกันของผู้คนในสังคมอย่างเสมอหน้ากันเป็นการเคารพศักดิ์ศรีมนุษย์

4) ความเสมอภาคและการเลือกปฏิบัติ (Equality and Discrimination)

เกณฑ์การวัดว่าสังคมหนึ่งสังคมใดมีการละเมิดหรือเคารพสิทธิมนุษยชนก็คือ การดูว่าสังคมนั้นมีการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือไม่ ตัวชี้วัดของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็คือ ความเสมอภาค หรือการปฏิบัติต่อคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน หากมีการปฏิบัติต่อมนุษย์โดยไม่เท่าเทียมกัน เราเรียกว่า การเลือกปฏิบัติ

ความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมกัน มิใช่แปลว่าคนทุกคนต้องได้รับเท่านั้น แต่หมายความว่า ในสถานการณ์ที่เหมือนกันจะต้องปฏิบัติต่อคนด้วยหลักการเดียวกัน เช่น การประกาศรับนักเรียนเข้าเรียนประถมศึกษาในโรงเรียนของรัฐนั้น ต้องเป็นการประกาศแก่บุคคลทั่วไปที่มีบุตรอายุครบตามเกณฑ์ที่กำหนด เช่น เด็กทุกคนที่อายุครบ 7 ปี มีสิทธิสมัครสอบเข้าเรียนชั้น ป.1 เป็นต้น โรงเรียนจะประกาศว่า โรงเรียนจะรับเด็กที่พ่อแม่มีอุปการคุณเข้าโรงเรียน โดยเด็กไม่ต้องสอบเข้าเหมือนเด็กคนอื่นไม่ได้ หากโรงเรียนประกาศในลักษณะเช่นนี้ เท่ากับเป็นการใช้หลักเกณฑ์ที่ต่างกันต่อการปฏิบัติในสถานการณ์ที่เหมือนกัน ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ

ส่วนที่กล่าวว่าความเท่าเทียมกัน หรือเสมอภาคกันนั้น ไม่ได้แปลว่าคนทุกคนต้องได้รับเท่ากัน แต่หมายความว่า ในสถานการณ์เดียวกัน อาจมีการได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันได้ เพราะข้อจำกัดหรือความจำเป็นของบุคคลนั้น ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการไม่เสมอภาคหรือเป็นการเลือกปฏิบัติ เช่น รัฐบาลประกาศว่าคนทุกคนที่มีรายได้จะต้องเสียภาษีให้แก่รัฐเท่ากันทุกคน โดยไม่ต้องคำนึงว่าใครจะมีรายได้มากน้อยเท่าใด โดยรัฐจะอ้างว่านี่คือการใช้เกณฑ์เดียวกัน ปฏิบัติต่อคนทุกคนเสมอหน้ากันหรือรัฐจะออกกฎหมายให้คนทุกคนอยู่บ้านการเคหะที่รัฐจัดหาไว้ให้ เพื่อแสดงว่าคนทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอหน้ากัน ย่อมไม่ใช่การอธิบายหลักของความเสมอภาค เพราะในความเป็นจริง การเสียภาษีให้แก่รัฐตามกำลังแห่งรายได้ของบุคคลนั้น ย่อมเกิดความเป็นธรรมแก่ผู้มีรายได้ทุกคน มิใช่ให้คนที่มีรายได้น้อยต้องเสียภาษีเท่าคนที่มีรายได้มาก

ดังนั้น ตามหลักการเรื่องความเสมอภาคนั้น จึงต้องเป็นกรณีที่มีข้อเท็จจริง 2 ชุด หรือกรณีบุคคล 2 คน หรือกลุ่ม 2 กลุ่ม โดยนำข้อเท็จจริงทั้งสองมาเปรียบเทียบกัน โดยยึดถือสาระสำคัญของเรื่องนั้นๆ เป็นจุดโยงในการเปรียบเทียบ ซึ่งอะไรถือเป็นสาระสำคัญของเรื่องหรือกรณีนั้นๆ ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป เพราะความเหมือนหรือแตกต่างกันในสาระสำคัญของกรณีนั้นจะเกี่ยวพันถึงความสามารถที่จะต้องปฏิบัติให้แตกต่างหรือเหมือนกัน เช่น กรณีการเสียภาษีให้แก่รัฐดังกล่าวข้างต้น สาระสำคัญของกรณีนี้คือ รายได้ของแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน จึงต้องเสียภาษีตามสัดส่วนของรายได้ที่ตนได้รับ จึงเกิดความเป็นธรรม เสมอภาคกัน ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือในกรณีคนพิการที่รัฐต้องมีบริการเป็นพิเศษ เพื่อให้คนพิการสามารถได้รับบริการง่ายขึ้นนั้น ไม่ถือว่ารัฐเลือกปฏิบัติต่อคนปกติ เพราะสาระสำคัญของกรณีนี้คือ คนพิการไม่สามารเข้าถึงบริการของรัฐได้เช่นคนปกติ จึงต้องมีวิธีการพิเศษที่ทำให้คนพิการเข้าถึงบริการได้โดยง่ายและเป็นธรรมแก่คนพิการ เช่น กรณีกรุงเทพมหานครจัดลิฟต์ให้คนพิการที่สถานีรถไฟฟ้า BTS หรือมีทางเท้าที่มีทางลาดให้คนพิการที่นั่งรถเข็นสามารถขึ้น-ลง ทางเท้าได้โดยง่าย เป็นการอำนวยความสะดวกให้คนพิการ ถือว่าเป็นการปฏิบัติต่อบุคคลที่มีสาระสำคัญแตกต่างกัน โดยไม่เหมือนกัน ไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ

เมื่อได้เข้าใจหลักการต่างๆ และที่มาของสิทธิมนุษยชนนี้แล้ว จะทำให้สามารถแยกแยะหรืออธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมได้ว่า กรณีใดเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ละเมิดสิทธิ มนุษยชนอะไร และอาศัยหลักการ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

1. กรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และสิทธิในชีวิต
2. กรณีโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งไม่รับเด็กที่เป็นโปลิโอเข้าเรียนโดยอ้างว่าเป็นคนพิการ ไม่น่าจะเรียนได้เท่าเด็กปกติ เป็นการละเมิดหลักความเสมอภาคและการเลือกปฏิบัติ
3. กรณีกรมตำรวจออกจดหมายเตือนบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ให้งดการวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของเสรีภาพของสื่อมวลชน
4. กรณีชาวเขาอยู่บนเขามาก่อนการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่ทางราชการบังคับให้ย้ายออกเพราะกลัวว่าจะไปตัดไม้ทำลายป่า เป็นการละเมิดเสรีภาพในการเดินทางและเลือกถิ่นที่อยู่
5. กรณีหนังสือพิมพ์ลงภาพข่าวผู้หญิงถูกข่มขืนและนำเสนอข่าวการถูกข่มขืนอย่างละเอียด เป็นการละเมิดเสรีภาพในเกียรติยศ ชื่อเสียง และความเป็นส่วนตัว
6. กรณีรัฐบาลออกกฎหมายให้มีพรรคการเมืองของรัฐบาลเพียงพรรคเดียว เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพทางการเมือง
7. กรณีรัฐบาลสร้างเขื่อนโดยไม่ให้ประชาชนรับรู้ข่าวสาร เป็นการละเมิดสิทธิที่จะรู้ข้อมูลข่าวสาร
8. กรณีตำรวจซ้อมผู้ต้องหาให้รับสารภาพ เป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายห้ามทรมาน
9. กรณีนายสุชาติ ชาวบุรีรัมย์ มาทำงานเป็นกรรมกรก่อสร้างในกรุงเทพฯ ได้ค่าจ้างวันละ 50 บาท เป็นการละเมิดสิทธิในการมีงานทำ และได้ค่าจ้างที่ยุติธรรม
10. กรณีชาวกะเหรี่ยงถือผี จัดพิธีเคารพเจดีย์ เจ้าป่าเจ้าเขา แต่ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้สั่งห้าม เป็นการละเมิดสิทธิในการถือศาสนา และสิทธิในการดำเนินกิจกรรมทางวัฒนธรรม

สิทธิมนุษยชนในกระแสโลกาภิวัตน์

สว่าง กันศรีเวียง

ความเป็นมาของสิทธิมนุษยชนสากล

สิทธิมนุษยชนมีพัฒนาการมาจากความพยายามของมนุษย์ที่จะให้ศักดิ์ศรีของมนุษยชนได้รับการเคารพ และจากการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเสมอภาคที่เกิดขึ้นในดินแดนต่างๆ ทั่วโลก แนวความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนเกิดจากบรรดานักคิดที่มาจากหลากหลายประเพณีและศาสนา ต่อมาผู้บริหารประเทศและนักกฎหมายต่างมีบทบาทในการส่งเสริมแนวความคิดดังกล่าวและร่างขึ้นเป็นเอกสารที่ใช้ปกป้องสิทธิของบุคคลและค่อยๆ กลายเป็นบทบัญญัติและรัฐธรรมนูญของชาติต่างๆ ตัวอย่างเช่น ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ความคิดเรื่องกฎแห่งธรรมชาติได้พัฒนาไปเป็นการยอมรับว่า สิทธิโดยธรรมชาติเป็นสิทธิทางกฎหมาย และสิทธิดังกล่าวนี้ต่อมามีการรวบรวมและร่างขึ้นเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญของชาติในยุโรปและอเมริกาเหนือ ซึ่งสะท้อนถึงความผูกพันระหว่างรัฐและบุคคลภายในรัฐ ซึ่งเน้นว่าอำนาจของรัฐมาจากบรรดาเสรีชน ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และของพลเมือง (Declaration of the Rights of Man and of the Citizen) ซึ่งเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ซึ่งร่างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1789 และกฎหมายรัฐธรรมนูญของอเมริกา (Bill of Rights) ซึ่งร่างขึ้นใน ค.ศ.1791 ล้วนพัฒนามาจากแนวความคิดที่กล่าวมาแล้ว

รัฐธรรมนูญของชาติตะวันตกที่พัฒนามาจากแนวความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน ยังไม่ถือได้ว่าเป็น “สากล” เพราะยังไม่ครอบคลุมไปถึงพลเมืองทุกคน สตรี เด็ก คนต่างชาติ และทาส ยังไม่ได้รับการคุ้มครองในฐานะพลเมืองที่มีสิทธิตามกฎหมาย นอกจากนั้นสิทธิทางสังคมและสิทธิของชนกลุ่มน้อย ก็ยังไม่ได้รับการกล่าวถึงในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของชาติตะวันตกต่างๆ ในช่วงระยะนั้น บท

บัญญัติการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติซึ่งแสดงถึงความร่วมมือระหว่างชาติได้ปรากฏขึ้น โดยเฉพาะสนธิสัญญาว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนา สนธิสัญญาเกี่ยวกับการเลิกทาส และกฎหมายเกี่ยวกับสงคราม อย่างไรก็ตามเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914 – 1918) สิ้นสุดลง ก็ได้เกิดความรู้สึกร่วมกันว่ารัฐบาลทั้งหลายไม่สามารถปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ จำเป็นที่จะต้องพึ่งพลังของนานาชาติร่วมกัน ดังนั้นองค์การสันนิบาตชาติ (The League of Nations) ซึ่งเป็นองค์การสากลระหว่างรัฐบาลองค์การแรก กำเนิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงหาวิถีทางที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติ แต่งานของสันนิบาตชาติในเรื่องนี้ก็จำกัดอยู่เพียงการคุ้มครองชนกลุ่มน้อยในบางประเทศเท่านั้น

ความพยายามระดับนานาชาติที่จะปกป้องสิทธิของผู้ใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ปรากฏขึ้นต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 และได้กลายเป็นข้อตกลงระดับนานาชาติ ร่างขึ้นโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศเมื่อ ค.ศ. 1919 ส่วนการเลิกทาสซึ่งพยายามต่อสู้กันมาเป็นระยะเวลานานก็บรรลุผลสำเร็จ เมื่อนานาชาติที่เกี่ยวข้องร่วมลงนามในอนุสัญญาระหว่างชาติว่าด้วยทาสที่กรุงเจนีวาเมื่อ ค.ศ. 1926 สำหรับปัญหาผู้ลี้ภัยก็ได้มีการร่วมลงนามในอนุสัญญาระหว่างชาติเพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัย เมื่อ ค.ศ. 1933 และ 1938

ในช่วงระยะระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ได้เกิดระบอบการปกครองแบบรวมอำนาจเบ็ดเสร็จ (Totalitarian regimes) ซึ่งก่อตัวขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1920 และดำเนินต่อไปจนเริ่มสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในดินแดนของตนเองอย่างรุนแรง ในขณะที่สงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939 – 1945) ได้นำมาซึ่งการทำลายล้างชีวิตและศักดิ์ศรีของมนุษยชนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งมีความพยายามที่จะทำลายชนกลุ่มต่างๆ โดยอ้างเหตุแห่งเชื้อชาติและศาสนาดังนั้นจึงเป็นที่ประจักษ์ชัดอย่างแน่นอนว่าจำเป็นจะต้องมีบทบัญญัติระดับนานาชาติ เพื่อเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพราะการเคารพสิทธิมนุษยชนนับเป็นภาระที่สำคัญอันจะนำไปสู่สันติภาพและความก้าวหน้าของโลก

ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อมีการดำเนินการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้น บรรดาผู้นำของประเทศสมาชิกดั้งเดิม 50 ประเทศ ได้ร่วมลงนามในกฎบัตรสหประชาชาติ (The Charter of the United Nations) เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1945 ซึ่งประกาศเป้าหมายหลักขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1945 ว่า : “เพื่อปกป้องคนรุ่นต่อไปจากภัยพิบัติของสงคราม และเพื่อยืนยันความศรัทธาในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในศักดิ์ศรี และคุณค่าของมนุษย์ และในสิทธิอันเท่าเทียมกันของบุรุษและสตรี” มาตรา 1 ของกฎบัตรสหประชาชาติระบุว่า จุดมุ่งหมายประการหนึ่งของสหประชาชาติคือ “เพื่อบรรลุความร่วมมือระหว่างชาติในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการเคารพสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานสำหรับมนุษย์ทุกคนโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา”

ด้วยเหตุที่กฎบัตรสหประชาชาติ เป็นสนธิสัญญาที่บรรดาประเทศสมาชิกองค์การสประชาชาติร่วมลงนาม จึงถือว่ามีข้อผูกพันทางกฎหมายที่บรรดาสมาชิกจะต้องปฏิบัติตาม รวมถึงการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และการร่วมมือกับสหประชาชาติตลอดจนนานาประเทศ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่บัญญัติไว้ในกฎบัตร อย่างไรก็ตาม กฎบัตรสหประชาชาติมิได้มีรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนโดยตรง หรือกลไกที่จะช่วยให้ประเทศสมาชิกปกป้องสิทธิมนุษยชน ครั้นปี ค.ศ. 1945 องค์การสหประชาชาติได้จัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Committee on Human Rights) ขึ้น มีหน้าที่ร่างกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน จึงเกิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ซึ่งสหประชาชาติ ได้มีมติรับรองเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1948

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งบรรดาประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติได้ร่วมรับรองเมื่อ ค.ศ. 1948 ถือเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติต่อกันของมวลมนุษย์และของบรรดานานาชาติ ถึงแม้ว่าปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนจะมิได้มีผลบังคับทางกฎหมายเช่นเดียวกับสนธิสัญญา อนุสัญญา หรือข้อตกลงระหว่างประเทศ แต่ปฏิญญาสากลฉบับนี้นับว่ามีพลังสำคัญทางศีลธรรม จริยธรรม และมีอิทธิพลทางการเมืองไปทั่วโลก และถือเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการปฏิบัติเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่บรรดาประเทศทั่วโลกยอมรับ

ข้อความในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐานในการดำเนินงานขององค์การสหประชาชาติ และมีอิทธิพลสำคัญต่อการร่างรัฐธรรมนูญของบรรดาประเทศที่มีการร่างรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาประเทศอาณานิคมได้อ้างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในการประกาศอิสรภาพช่วง ค.ศ. 1950 ถึง 1960 และหลายประเทศนำข้อความในปฏิญญามาใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญของตน

เมื่อสหประชาชาติมีมติรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน องค์การสหประชาชาติประกอบด้วยประเทศสมาชิกเพียง 58 ประเทศ จากนั้นมา จำนวนประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้นจนมีจำนวนเกินกว่าสามเท่าของสมาชิกเดิม อิทธิพลของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็ขยายมากขึ้นจนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเป็นที่อ้างอิงถึงเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศทั้งหลายทั่วโลก เมื่อพิจารณาดูมาตราต่างๆ ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนจะเห็นว่า มาตราแรกแสดงถึงความเป็นสากลของสิทธิมนุษยชน โดยกล่าวถึงความเท่าเทียมกันของศักดิ์ศรีและสิทธิของมนุษย์ทุกคน ส่วนมาตราที่สองกล่าวถึงความชอบที่จะมีสิทธิของบุคคลโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนหลักการขั้นพื้นฐานของสิทธิที่ประกาศไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ปรากฏในคำปรารภซึ่งเริ่มด้วยข้อความที่เน้นการยอมรับ “ศักดิ์ศรีประจำตัวและสิทธิซึ่งเท่าเทียมกัน และไม่อาจโอนให้แก่กันได้ของสมาชิกทั้งมวลของครอบครัวมนุษย์”

สิทธิที่ระบุไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนจำแนกออกได้อย่างกว้างๆ 2 ประเภท คือ

สิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งรวมถึงสิทธิในชีวิต เสรีภาพและความมั่นคงของบุคคล อิสรภาพจากความเป็นทาสและการถูกทรมาน ความเสมอภาคในทางกฎหมาย การคุ้มครองเมื่อถูกจับ กักขัง หรือเนรเทศ สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม การมีส่วนร่วมทางการเมือง สิทธิในการสมรสและการตั้งครอบครัว เสรีภาพขั้นพื้นฐานในทางความคิด มโนธรรม และศาสนา การแสดงความคิดเห็น และการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม และเข้าร่วมสมาคมอย่างสันติ สิทธิในการมีส่วนในรัฐบาลของประเทศตนโดยทางตรงหรือ โดยการส่งผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งอย่างเสรี
สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งครอบคลุมถึงสิทธิในการทำงาน การได้รับค่าตอบแทนเท่ากันสำหรับงานที่เท่ากัน สิทธิในการก่อตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงาน สิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสม สิทธิในการศึกษา และสิทธิในการเข้าร่วมใช้ชีวิตทางวัฒนธรรมอย่างเสรี
ต่อมาหลักการของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษย์ชนได้มีการแปลเจตนาและขยายข้อความให้ละเอียดยิ่งขึ้น ด้วยการร่างเป็นกติการะหว่างประเทศที่มีผลบังคับทางกฎหมาย และสหประชาชาติมีมติรับรอง เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1966 คือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (Inter national Covenant on Economic Social and Cultural Rights – ICESCR) การที่สหประชาชาติมีมติรับรองกติการะหว่างประเทศดังกล่าวนี้ ทำให้บรรดานานาประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ไม่เพียงแต่เห็นชอบด้วยกับสิทธิต่างๆ ที่ระบุไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแต่ยังถือเป็นมาตรการในการปฏิบัติตามด้วย หมายความว่า บรรดาประเทศที่ให้สัตยาบัน (Ratify) หรือรับรองกติการะหว่างประเทศดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามข้อความในกติการะหว่างประเทศด้วยทั้งนี้เพราะกติการะหว่างประเทศมีข้อผูกพันทางกฎหมาย ประเทศที่เป็นภาคีในกติการะหว่างประเทศมีข้อผูกพันที่จะต้องเคารพและปฏิบัติตามเงื่อนไขของกติการะหว่างประเทศ และรวมไปถึงต้องส่งรายงานการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศให้แก่สหประชาชาติเป็นประจำด้วย เมื่อกติการะหว่างประเทศทั้งสองฉบับมีผลในการบังใช้ใน ค.ศ. 1976 ประเทศต่างๆ ได้เข้าเป็นภาคีจนปัจจุบันนับได้ 134 ประเทศ

นอกจากกติการะหว่างประเทศทั้งสองฉบับที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็ยังมีอนุสัญญา (Conventions) คำประกาศ (Declarations) ข้อเสนอแนะ (Recommendations) ที่เกี่ยวกับรายละเอียดของสิทธิมนุษยชนตามเจตนารมณ์ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศทั้งสองฉบับ คำประกาศและข้อเสนอแนะถือเป็นมาตรฐานสากลสำหรับบรรดาประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ แต่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายเช่นเดียวกับอนุสัญญา ซึ่งมีผลบังคับให้ประเทศที่เป็นภาคีของอนุสัญญาต้องปฏิบัติตาม ตัวอย่างของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on The Rights of the Child) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of all Forms of Discrimination Against Women)

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1990 หลังจากที่ได้มีมติรับรองของสมัชชาสหประชาชาติเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1987 ปัจจุบันนี้ ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติกว่า 180 ประเทศให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาดังกล่าว และบรรดาประเทศภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ต่างก็หาวิถีทางที่จะปฏิบัติตามข้อผูกมัดของอนุสัญญาโดยถือว่า เด็กเป็นผู้ที่จะต้องได้รับการดูแล ปกป้อง และเน้นถึงความสำคัญของชีวิตครอบครัวของเด็กด้วย

อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ได้รับการรับรองจากสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1979 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1987 ในปัจจุบัน ประเทศภาคีของอนุสัญญาดังกล่าวนับได้กว่า 150 ประเทศ จุดประสงค์ของอนุสัญญาฉบับนี้คือ ความเสมอภาคระหว่างชายและหญิง และเพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัติต่อสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกปฏิบัติในรูปแบบของการบังคับให้แต่งงาน ความรุนแรงในครอบครัว โอกาสในการศึกษา การดูแลด้านสาธารณสุข ตลอดจนการเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือความเป็นมาของสิทธิมนุษยชนสากล ความเป็น “สากล” เริ่มเห็นได้ชัดเจนจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับนานาชาติที่เกี่ยวกับการปกป้องศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษยชน ต่อมาจึงเกิดกติกาสัญญาระหว่างชาติ ตลอดจนอนุสัญญาฉบับต่างๆ ซึ่งมีข้อผูกพันในทางกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในกติการะหว่างประเทศ และอนุสัญญาที่แต่ละประเทศได้เข้าร่วมเป็นภาคี

สหประชาชาติและองค์กรต่างๆ ในระบบของสหประชาชาติ เช่น ยูเนสโก และยูนิเซฟ เป็นต้น ได้หาวิถีทางที่จะให้บรรดาประเทศสมาชิกปฏิบัติตามมาตรฐานสากลแห่งสิทธิมนุษยชนแต่ความพยายามต่างๆ ย่อมไร้ผล ถ้าปราศจากความร่วมมือของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทยสิทธิมนุษยชน หมายความถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค เสรีภาพ และอิสรภาพในชีวิตและร่างกายซึ่งเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ ความเสมอภาค เสรีภาพ และอิสรภาพในชีวิตและร่างกายซึ่งเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ และเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามบทบัญญัติของ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และตามหลักสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ตลอดจนตามแนวปฏิบัติของกฎหมายระหว่างประเทศ และข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม แต่กระนั้นก็ตาม สิทธิมนุษยชนก็ยังมีการละเมิดกันอยู่โดยทั่วไปในสังคมไทย และถ้าหากไม่หาทางป้องกันและแก้ไข แนวโน้มของการละเมิดก็จะทวีความรุนแรงขึ้น ยากแก่การแก้ไข และยังทำลายชื่อเสียง เกียรติภูมิ และภาพพจน์ของประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าคนไทยเข้าใจความหมายของสิทธิมนุษยชนอย่างถูกต้อง ถ้าเรายอมรับว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมามีเสรีภาพ และมีความเสมอภาคในศักดิ์ศรีและสิทธิ และถ้ามีการปฏิบัติต่อกันด้วยความรักและเคารพในศักดิ์ศรีของกันและกันฉันท์พี่น้อง คนในสังคมไทยที่มีความแตกต่างหลากหลายก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ปราศจากการเบียดเบียนและละเมิดสิทธิของกันและกัน

ใส่ความเห็น