สหภาพพม่า

ดุจฤดี คงสุวรรณ์ (2547) ได้นำเสนอสถานการณ์ความรุนแรงของความขัดแย้งในสหภาพพม่าไว้ภายใต้มุมมองในเรื่องความมีอคติทางชาติพันธ์ต่างๆในสหภาพพม่า ทั้งนี้เป็นเพราะดินแดนและประวัติศาสตร์ที่หล่อหลอมความเป็น “ชาติ” ของสหภาพพม่านั้นเต็มไปด้วยความขัดแย้งและแตกต่าง ดังข้อมูลที่กล่าวถึง ความเชื่อในเรื่องความแตกต่างระหว่าง “กลุ่มชาติพันธุ์พม่า” กับ “กลุ่มชาติพันธุ์อื่น”

การศึกษาถึงความแตกต่างดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่ค่อนข้างหาคำตอบให้ชัดเจนได้ยากว่าแท้จริงแล้วชนเชื้อสายพม่าต่างจาก “กลุ่มชาติพันธุ์อื่น” อื่นอย่างไร เพราะประเทศพม่ามีชนหลายเผ่าพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกันและมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมต่อกันมายาวนาน ทั้งที่เป็นผู้รับมาแต่แรกและเป็นผู้ให้ในภายหลัง ดังที่อาจารย์วิรัช นิยมธรรม นักวิชาการประจำศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวรได้แสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าวว่า

“…คนพม่าคือคนที่มีเชื้อสายพม่าและพูดภาษาพม่าเป็นภาษาแรกมาแต่กำเนิด และหากพิจารณาจากวิถีชีวิตของชาวพม่าในปัจจุบัน พม่ามีธรรมเนียมนิยมอันเนื่องด้วยพุทธศาสนานิกายเถรวาทเป็นส่วนใหญ่ (ประเทศพม่ามีผู้ถือพุทธราว 85 %) มีความเชื่อเรื่องเทพนัตอย่างฝังแน่น และดำรงความเป็นอยู่อย่างพม่าไว้ได้อย่างมั่นคง เช่น ชาวพม่านิยมนุ่งโสร่ง นุ่งซิ่น โพกผ้า พกลูกปะคำ ทาแป้งตะนะคา นิยมกินถั่ว ดื่มน้ำชา กินหมาก และชอบอาหารรสมันดังนี้เป็นต้น…” (วิรัช นิยมธรรม, 2550) นอกจากนั้นหากพิจารณาตามความเชื่อที่สืบทอดกันมาของพม่าก็พบว่ากษัตริย์พม่าสืบเชื้อสายมาแต่ศากยวงศ์ และเชื่อว่าเมืองแห่งแรกของชนเผ่าพม่าในแผ่นดินสหภาพพม่า เริ่ม ณ เมืองตะกอง ดังคำกล่าวว่า “จุดเริ่มของสหภาพพม่ามาแต่ตะกอง”

อย่างไรก็ตามนักวิชาการ อาทิ ศาสตราจารย์ลูช (G.H. Luce) สันนิษฐานว่า ชนเผ่าพม่าน่าจะเริ่มรกราก ณ พื้นที่เจ้าก์แซ อยู่ตอนล่างเมืองมัณฑะเล ซึ่งขัดกับความเชื่อเดิมของชาวพม่านั่นเอง อย่างไรก็ตามเป็นไปได้ว่าคนเชื้อสายพม่าคงเริ่มตั้งหลักแหล่งอยู่ทางตอนกลางของประเทศตามแถบลุ่มแม่น้ำเอราวดี แล้วจึงค่อยๆแพร่กระจายไปสู่ดินแดนรอบนอกโดยเฉพาะทางตอนใต้และทางตะวันตกเฉียงใต้ และจากหลักฐานทางภาษา พออนุมานได้ว่าบรรพบุรุษของพม่ามีหลักแหล่งดั้งเดิมอยู่แถบตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งเป็นบริเวณที่ยังคงมีพวกโลโลหรือพวกยี (Yi) กลุ่มชนร่วมเชื้อสายกับพม่าอาศัยอยู่

จากนั้นชาวพม่าจึงอพยพไปทางตะวันตก แล้วค่อยๆเคลื่อนย้ายลงมาตามลุ่มแม่น้ำอิระวดี และรวมตัวกันจนเป็นปึกแผ่น โดยสร้างเมืองพุกามขึ้นที่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเอราวดีตอนกลาง ประวัติศาสตร์พม่าได้เริ่มปรากฏเป็นหลักฐานชัดเจน ณ ที่แห่งนี้ เมื่อราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา

อารยธรรมพม่าเจริญมาด้วยการหลอมรวมมรดกจากชนหลายเผ่าพันธุ์ ศาสตราจารย์ลูช (1985) กล่าวว่าชนชาติฉิ่น แตะ และกันตู ถือเป็นสหายของชนชาติพม่า มอญมอบอารยธรรมด้านพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทและตัวอักษร พยูถ่ายทอดมรดกทางศิลปะและสถาปัตยกรรม ปะหล่องกับละว้าแถบเจ้าก์แซและมีนบู รวมถึงกะเหรี่ยงให้ความรู้แก่พม่าในด้านชลประทานและการทำนา และพม่าสืบศาสนาพุทธและพราหมณ์จากอินเดีย ดังนั้นตามความเห็นของศาสตราจารย์ลูช พม่าจึงเป็นดุจรูปธรรมของร่องรอยความหลากหลายทางอารยธรรมจากชนหลายเผ่าพันธุ์นั่นเอง

ปัจจุบันประเทศพม่าได้ประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น Union of Myanmar หรือ “สหภาพพม่า” ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์รุนแรงในการเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี ค.ศ. 1988 และเหตุที่รัฐบาลได้ประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศใหม่นี้ก็คงเพื่อสร้างเอกภาพขึ้นในนามและยังเป็นการแสดงท่าทียึดมั่นในแนวทางชาตินิยมมากยิ่งขึ้นด้วย เนื่องจากคำว่า “Burma” นั้นเป็นคำที่ต่างชาติกำหนดเรียกกันเอง จึงถือเป็นสำเนียงต่างด้าว ชื่อประเทศใหม่ของพม่าคือ “สหภาพพม่า” ที่ใช้บ่งชี้ทั้งความเป็นดินแดน ประชาชนและวัฒนธรรมของประเทศโดยส่วนรวม ส่วนคำว่า “พม่า” หรือที่กำหนดใหม่ว่า “Bamar” แทนคำ “Burman” ใช้หมายถึงเฉพาะชนเชื้อสายพม่าที่ต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆนั่นเอง

การทำความเข้าใจลักษณะทางวัฒนธรรมพม่า และความเป็นมาทางชาติพันธุ์ของชนชาติพม่าที่แท้จริงนั้น นอกจากจะศึกษาร่วมไปกับชนพื้นเมืองเผ่าต่างๆในสหภาพพม่าและประเทศไทยแล้ว จึงยังสามารถศึกษาจากชนพื้นเมืองเชื้อสายพม่าสำเนียงต่างๆ ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศสหภาพพม่าได้อีกทางหนึ่งด้วย ในประเด็นที่อาจถือเป็นชนวนสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ความมีแนวคิดหรือมุมมองที่คิดว่าชนชาติของตนนั้นยิ่งใหญ่ สืบเชื้อสายมาจากเทพชั้นสูง

ในขณะเดียวกันก็ดูแคลนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นด้วย เรียกว่า “การมีอคติทางชาติพันธุ์ในกลุ่มชาติพันธุ์พม่า” นั่นเอง จากข้อมูลข้างต้นเป็นสิ่งซึ่งแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าแท้จริงแล้วแม้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์จะให้ความสำคัญต่อ “กลุ่มชาติพันธุ์อื่น” อยู่ตลอดเวลา แต่ชาวพม่ายุคหลังการเปลี่ยนแปลงกลับมองว่าการที่ราชอาณาจักรพม่าดำรงอยู่ได้เป็นเวลายาวนานนั้นเป็นเพราะวีรบุรุษของชาวพม่าที่มีความสามารถป้องกันและปราบปรามภัยจากภายนอกได้ จนกระทั่งราชอาณาจักรสหภาพพม่าถึงกาลต้องสิ้นสถาบันกษัตริย์และสิ้นอธิปไตยในปี ค.ศ. 1885 เจ้าอาณานิคมอังกฤษได้เข้ามาล้มเลิกระบบการปกครองเดิมของพม่าและครอบครองแผ่นดินสหภาพพม่าอย่างเบ็ดเสร็จ

ช่วงแห่งการสิ้นสุดของสถาบันกษัตริย์และอำนาจอธิปไตยข้างต้นถือเป็นยุคแห่งการสิ้นชาติและการสั่งสมอารยธรรมของชาวพม่ามาแต่เดิม และอาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงแห่งการเริ่มต้นความแตกแยกในลัทธิและเผ่าพันธุ์ นักวิชาการหลายท่านกล่าวว่าอังกฤษเป็นต้นเหตุของ “อคติทางชาติพันธุ์” ในพม่า อังกฤษสร้างความแตกแยกทางชนชาติจนเกิดเป็นปัญหาสงครามกลางเมืองระหว่าง กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในพม่าจนเป็นปัญหาตกค้างมาจนถึงปัจจุบัน (วิรัช นิยมธรรม,2550)

ช่วงที่พม่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรคนั้น (ค.ศ.1948–1962) สหภาพพม่ามีปัญหาทั้งเรื่องเอกภาพระหว่างชนเผ่าและระหว่างกลุ่มลัทธิทางการเมือง มีการต่อสู้ของผู้ก่อการร้ายที่เรียกร้องอิสระทางการเมืองและการปกครอง และยังมีการแตกแยกระหว่างกลุ่มนักการเมืองภายในพรรครัฐบาล รัฐบาลอูนุในขณะนั้นไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาของชาติได้ นายพลเนวินจึงได้รับเชิญให้มารับหน้าที่นายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวเพื่อแก้ไขเหตุการณ์ร้ายให้ผ่านพ้น เหตุนี้กองทัพพม่าซึ่งนำโดยนายพลเนวินจึงถูกมองว่าเป็นอัศวินที่เข้ามาช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์อันเลวร้ายให้คืนสู่ความสงบสันติ ท้ายที่สุดประชาธิปไตยในระบบหลายพรรคที่ต่างฝ่ายต่างพยายามต่อสู้กันเพื่อแย่งอำนาจได้ทำให้ระบอบประชาธิปไตยในพม่าถูกผลักไปอยู่ในตำนานเป็นเวลากว่า 20 ปี (ค.ศ. 1962 – 1988) เพราะในปี ค.ศ. 1962 กองทัพพม่าได้ทำการรัฐประหาร แล้วนำระบบการปกครองแบบพรรคเดียวมาใช้ โดยเรียกการเมืองระบบนี้ว่า “การเมืองของประชาชน” เพื่อให้ต่างจาก “การเมืองของพรรค”

อย่างไรก็ตาม พรรคสันนิบาตอิสรภาพต่อต้านฟาสซิสต์ของนายกรัฐมนตรีอูนุในยุคทดสอบประชาธิปไตยสมัยเดียวของพม่า และพรรคแนวทางสังคมนิยมของรัฐบาลทหารโดยนายพลเนวินในยุคทดสอบวิถีสังคมนิยมต่างก็ประสบกับความล้มเหลวทางการเมือง กระนั้นพม่ากลับอ้างว่าเป็นเพราะบรรดาผู้นำกลุ่มต่างๆในอดีตต่างไม่ลงรอยกัน และมัวหลงยึดติดในลัทธิทางการเมืองและความแตกต่างในเผ่าพันธุ์ ด้วยเหตุผลดังกล่าวการปราบปรามด้วยวิธีรุนแรงจึงมิอาจจะเลี่ยงได้

ภายใต้การปกครองเบ็ดเสร็จของนายพลเนวิน การต่อสู้ระหว่างชนชาติกลุ่มน้อยและรัฐบาลพม่ายังคงดำเนินต่อมา พร้อมกับภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจที่ทำให้พม่าถูกนับเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดของโลก จนรัฐบาล เนวินต้องประกาศลดค่าเงินจั๊ด (Kyat) ในเดือนกันยายน 2530 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการชุมนุมประท้วงของประชาชนทั่วประเทศ ตามมาด้วยการปราบปรามเข่นฆ่านักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมกันกลางใจเมืองร่างกุ้งในวันที่ 8 สิงหาคม 2531 เหตุการณ์การสังหารหมู่ครั้งนั้น เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในชื่อ 8-8-88 (เหตุการณ์วันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988) และเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ประชาชนชาวพม่าตกอยู่ในภาวะยากแค้นแสนสาหัสตราบจนทุกวันนี้ (คณะกรรมการจัดงาน, 2544)

อีกประเด็นหนึ่งที่ถือเป็นความรุนแรงที่ยังคงสืบเนื่องมาจากการมีอคติทางชาติพันธุ์ข้างต้นจนนำไปสู่สถานการณ์ในพม่าด้านการเมืองกับสิทธิมนุษยชนเหนือกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กล่าวคือ รัฐบาลพม่าซึ่งมาจากคณะนายทหารที่ยึดอำนาจการปกครองเมื่อปี 2531 มีนโยบายมุ่งรักษาเสถียรภาพ รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศและสร้างความเป็นเอกภาพของชาติ โดยปกครองประเทศโดยไม่มีรัฐธรรมนูญและใช้มาตรการที่แข็งกร้าวเด็ดขาดเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวทำให้นานาประเทศมองว่ารัฐบาลพม่าขาดความชอบธรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2533 การจับกุมคุมขังบุคคลที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นจำนวนมากและการประวิงเวลาเพื่อให้ตนอยู่ในอำนาจต่อไป รัฐบาลพม่ามีความพยายามที่จะลดแรงกดดันจากประชาคมระหว่างประเทศอยู่บ้าง โดยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2546 พลเอก ขิ่น ยุ้น นายกรัฐมนตรีได้ประกาศ “Roadmap towards Democracy” ของพม่า ซึ่งกำหนดขั้นตอนการดำเนินการไปสู่ประชาธิปไตยของพม่า 7 ขั้นตอน ขั้นตอนที่สำคัญคือการจัดประชุมสมัชชาแห่งชาติ (National Convention) เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้เริ่มการประชุมแล้วเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2547 และขณะนี้การประชุมได้หยุดพักเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2547 โดยจะเริ่มประชุมใหม่หลังฤดูมรสุม

นอกจากนี้รัฐบาลพม่าได้เริ่มกระบวนการเจรจากับชนกลุ่มน้อยที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มกะเหรี่ยง (Karen National Union – KNU) ในช่วงเวลาดังกล่าวอีกด้วย แม้ว่าจะเริ่มพบสัญญาณการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนในพม่าบ้างแต่รายงานข่าวจากวอชิงตัน สหรัฐอเมริกายังเปิดเผยผลการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี 2547 ระบุว่าสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า

ในรายงานระบุว่า รัฐบาลทหารปกครองประเทศโดยไม่คำนึงถึงข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในปีนี้ได้เลวร้ายลงไปอีก โดยเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงมีการข่มขืนและทรมานนักโทษ “ประชาชนไม่มีสิทธิที่จะวิจารณ์หรือเปลี่ยนรัฐบาล ส่วนเจ้าหน้าที่ความมั่นคงยังมีการวิสามัญฆาตกรรม มีการข่มขืน ทรมาน เฆี่ยนตี กับนักโทษและผู้ที่ถูกกักขัง” พร้อมชี้ว่า รัฐบาลพม่ายังกักตัวนางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน และนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยคนอื่นๆ

ในปี 2547 รัฐบาลทหารพม่าได้จับผู้สนับสนุนประชาธิปไตยอย่างน้อย 85 คน ในจำนวนดังกล่าว 42 คนถูกปล่อย และ 43 คนยังอยู่ในเรือนจำ โดยส่วนใหญ่ของผู้ที่ถูกจับเป็นสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางซูจี และแม้พม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองในช่วงที่ผ่านมาอย่างน้อย 100 คน แต่ยังมีผู้ที่ถูกจับจากปัญหาด้านความมั่นคงอีก 1,500 คน จากเหตุการณ์ดังกล่าวรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้จัดให้พม่าเป็น 1 ใน 6 ชาติด่านหน้าแห่งการปกครองแบบกดขี่ (ซึ่งรวมถึงเกาหลีเหนือ คิวบา อิหร่าน เบลารุสและซิมบับเว) (กรุงเทพธุรกิจ, 2548)

บทสรุปและข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้งทางสังคมและวัฒนธรรม ระดับโลกในยุคโลกาภิวัตน์

“…สาเหตุพื้นฐานของความขัดแย้งในโลกใหม่ไม่ได้เกิดจากอุดมการณ์หรือเศรษฐกิจเป็นหลักอีกต่อไปแล้ว หากแต่สาเหตุหลักของความขัดแย้งเหล่านั้นมาจากวัฒนธรรม ความขัดแย้งที่สำคัญที่สุดของอนาคตจะเกิดขึ้นตามเส้นแบ่งที่ผิดพลาดทางวัฒนธรรม…”
ข้างต้นเป็นคำกล่าวของ แซมมวล ฮันติงตัน นักวิชาการรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ในข้อเขียนที่ชื่อ “The Clash of Civilization” (1993) ที่ได้เสนอแนวคิดที่ท้าทายอย่างมากในการพิจารณาถึงสาเหตุหลักของความขัดแย้งในโลกยุคหลังสงครามเย็น

โดยทั่วไปแล้ว นักยุทธศาสตร์และนักความมั่นคงทั้งหลายมองว่าโลกยุคหลังสงครามเย็น จะเป็นโลกแห่งความขัดแย้งของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพราะโลกแห่งความขัดแย้งของลัทธิและสงครามอุดมการณ์ทางการเมืองได้สิ้นสุดไปพร้อมกับการยุติของสงครามเย็น ซึ่งจะเห็นว่านักยุทธศาสตร์และนักความมั่นเหล่านั้นได้ละเลยในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับบริบททางสังคมวิทยาของรัฐไป

ดังนั้น ข้อเสนอของฮันติงตันในการพิจารณาว่า “วัฒนธรรม” จะเป็นจุดกำเนิดสงครามของโลกในยุคหลังสงครามเย็น จึงทั้งทวนกระแสและท้าทายอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นการบังคับให้นักยุทธศาสตร์ นักความมั่นคง และนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต้องหันกลับมาพิจารณาปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐที่มีมูลเหตุมาจากปัจจัยทางด้านศาสนาและวัฒนธรรมมากขึ้นด้วย

ฮันติงตัน (1993) กล่าวว่า “การเมืองโลกได้เข้าสู่ช่วงใหม่ รัฐประชาชาติจะยังคงเป็นตัวแสดงที่มีอำนาจมากที่สุดในกิจการของโลก แต่ความขัดแย้งหลักของการเมืองโลกจะเกิดขึ้นระหว่างชาติและกลุ่มที่มีความแตกต่างทางอารยธรรม การปะทะกันของอารยธรรมจะครอบงำการเมือง และเส้นแบ่งที่ผิดพลาดทางอารยธรรมจะเป็นแนวรบของอนาคต ความขัดแย้งระหว่างอารยธรรมจะเป็นรูปธรรมล่าสุดในวิวัฒนาการของความขัดแย้งในโลกสมัยใหม่ (ดังนั้น) ความขัดแย้งที่สำคัญที่สุดของอนาคตจะเกิดขึ้นตามเส้นแบ่งที่ผิดพลาดทางวัฒนธรรมที่แยกอารยธรรมหนึ่งออกจากอีกอารยธรรมหนึ่ง” ภายใต้ฐานการพิจารณาผ่าน “มุมมองทางวัฒนธรรม” ของปัญหาสงครามและความขัดแย้ง ซึ่งได้ก่อให้เกิด “วิวาทะวัฒนธรรม” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

พร้อมกันนี้ฮันติงตันยังได้เสนอให้แบ่งโลกออกเป็น 3 อารยธรรมใหญ่ตามเกณฑ์ของศาสนาคือ อารยธรรมคริสต์ อารยธรรมอิสลาม และอารยธรรมขงจื๊อ และมองว่าความขัดแย้งของโลกในอนาคตก็คือ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประเทศตะวันตกที่อยู่ภายใต้อารยธรรมคริสต์กับกลุ่มประเทศที่อยู่ภายใต้อารยธรรมอิสลามและอารยธรรมขงจื๊อ นั่นเอง

อีกทั้งยังเสนออีกด้วยว่าแนวโน้มของการเมืองโลกก็คือ “การเชื่อมต่อของอารยธรรมขงจื๊อ-อิสลาม จะเป็นปัจจัยที่ท้าทายต่อผลประโยชน์ ค่านิยม และอำนาจของโลกตะวันตก”

ความขัดแย้งระหว่างรัฐตะวันตกกับรัฐขงจื๊อ-อิสลามที่ว่านั้นจะเน้นอยู่ในเรื่องของอาวุธนิวเคลียร์ เคมี ชีวะขีปนาวุธและระบบส่งของอาวุธที่มีความซับซ้อนและขีดความสามารถของระบบนำวิถี การข่าว ระบบอิเล็กทรอนิกส์ การเชื่อมต่อของอารยธรรมขงจื๊อ-อิสลาม ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้การสนับสนุนทางด้านอาวุธและเทคโนโลยีอาวุธในการต่อต้านอำนาจของโลกตะวันตก และท้ายที่สุดรูปแบบใหม่ของการแข่งขันด้านอาวุธจึงเกิดขึ้นระหว่างรัฐอิสลาม-ขงจื๊อกับรัฐตะวันตก”

หากจะสรุปรูปแบบการดำเนินนโยบายของโลกตะวันตกที่มีสหรัฐเป็นผู้นำ เช่น ในปัญหาระหว่างสหรัฐกับประเทศในตะวันออกกลางกล่าวคือ สหรัฐมีความชอบธรรมที่จะใช้วิธีการต่าง ๆ เข้าจัดการกับความขัดแย้งเหล่านั้น เพราะการกระทำเช่นนั้นย่อมหมายถึงความพยายามในการปกป้องอารยธรรมคริสต์ของโลกตะวันตก ก็เท่ากับว่ายอมรับในบทบาทของสหรัฐที่เป็นผู้นำที่เข้มแข็งว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับโลกตะวันตกเพื่อให้พ้นจากการคุกคามของกลุ่มประเทศที่มีอารยธรรมแตกต่างออกไป ซึ่งก็คือ การเสนอว่าสหรัฐเป็น “อัศวินแห่งสงครามครูเสดใหม่” นั่นเอง และอานรวมถึงการให้สหรัฐมีความชอบธรรมในการโจมตีประเทศบางประเทศ เพราะประเทศดังกล่าวอาจเป็นภัยคุกคามต่อตะวันตกได้ในอนาคต เช่น ในกรณีของอิรัก เป็นต้น

สงครามอารยธรรมหรือสงครามศาสนาเช่นที่กล่าวมาแล้วนี้มีแนวโน้มว่าจะเป็นลักษณะสำคัญประการหนึ่งของสงครามและความขัดแย้งของโลกในศตวรรษที่ 21 เพราะแต่เดิมความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมภายในรัฐนั้น ถูกกดทับไว้ด้วยปัญหาความมั่นคงที่มีองค์ประกอบในเรื่องของอุดมการณ์ในแบบยุคสงครามเย็น ตลอดจนการใช้กำลังอำนาจเข้าควบคุมความแตกต่างดังกล่าวไว้ รอยแยกของความแตกต่างทางวัฒนธรรมภายในรัฐจึงถูกบดบังด้วยปัญหาของความแตกต่างทางการเมือง

ดังนั้นเมื่อพันธนาการของโลกยุคสงครามเย็นได้สิ้นสุดลง “การปะทะของอุดมการณ์” จึงถูกแทนที่ด้วย “การปะทะของอารยธรรม” กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ “สงครามการเมือง” ในแบบเดิมได้ถูกแทนที่ด้วย “สงครามอารยธรรม” หรือ “สงครามศาสนา” ซึ่งก็คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางด้านศาสนากับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆและว่าที่จริงก็ใช่จะเป็นแค่เรื่องของความเป็นจารีตนิยมของศาสนาอิสลาม อย่างที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างของคำอธิบายเท่านั้น หากแต่กลุ่มศาสนาที่แสดงออกในลักษณะของการใช้ความรุนแรงมีอยู่ในทุกศาสนา เช่น กลุ่มฝ่ายขวาของชาวคริสต์ในสหรัฐอเมริกา กลุ่มจารีตนิยมของชาวมุสลิมและกลุ่มขวาของพวกยิวในตะวันออกกลาง กลุ่มหัวรุนแรงของชาวฮินดู และมุสลิมในเอเชียใต้ และรวมถึงกลุ่มศาสนาพุทธนิกายโอมชินริเกียวในญี่ปุ่น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่แสดงออกอย่างเด่นชัดในกรณีเหล่านี้ อาจจะเป็นพวกจารีตนิยมของศาสนาอิสลาม ดังจะเห็นได้ไม่ยากจากข่าวที่ปรากฏไม่ว่าจะเป็นกรณีระเบิดพลีชีพในตะวันออกกลางหรือเครือข่ายของ โอซามา บิน ลาเดน ก็ตาม

ปัจจัยทางด้านศาสนาเช่นนี้ทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่แต่เดิมพลังขับเคลื่อนของกิจกรรมทางการเมืองที่รุนแรงจะเป็นเรื่องของอุดมการณ์ แต่เมื่อสงครามเย็นยุติลง พร้อม ๆ กับการหมดยุคของการต่อสู้ทางอุดมการณ์แบบสังคมนิยมและทุนนิยมได้เกิดช่องว่างของพลังที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนของปฏิบัติการทางการเมือง

ซึ่งในกรณีเช่นนี้ ศาสนาได้เคลื่อนตัวเข้ามาแทนที่เป็นพลังขับเคลื่อนใหม่ โดยเฉพาะศาสนาได้กลายเป็นพลังทางด้านจิตใจอันสำคัญยิ่งที่ให้ความมั่นใจกับคนในยามที่ต้องต่อสู้กับความรุนแรงของกระแสโลกาภิวัตน์ที่บุกทะลวงเข้าไปในส่วนต่าง ๆ ของโลกและทั้งยังเป็นพลังของความหวัง ที่ให้หลักประกันในเรื่องของความเชื่อและความศรัทธา

ในขณะเดียวกันศาสนาก็เป็นพลังทางการเมือง เช่น ศาสนาเป็นปัจจัยในการสร้างเอกลักษณ์ทางการเมืองตลอดรวมถึงการที่ศาสนาเป็นปัจจัยของการก่อรูปของอุดมการณ์ทางการเมือง ดังจะเห็นได้ว่า ในกรณีเช่นนี้อาจจะไม่มีความแตกต่างกันเท่าใด ระหว่างมุสลิมจารีตนิยมกับชาวคริสต์ฝ่ายขวา เพราะในทั้งสองกรณีล้วนแต่มีคำอธิบายทางศาสนา เพื่อสร้างความชอบธรรมทั้งในทางการเมืองและทางจิตใจรองรับต่อปฏิบัติการของตน

ปรากฏการณ์ของโลกเช่นนี้สามารถตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่า ศาสนาได้กลายเป็น “พันธมิตรมืด” ของความรุนแรงทางการเมืองของโลกในปัจจุบันไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ศาสนาได้กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด “ความชอบธรรมทางศีลธรรม” สำหรับผู้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่รุนแรงอีกทั้งยังทำให้ผู้ที่ปฏิบัติการดังกล่าวเกิดความเชื่อว่า ปฏิบัติการของพวกเขาได้กลายเป็น “ถนน” ที่จะนำพาตัวไปพบกับ “พระเจ้า” (ในศาสนาของตน) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า การดำเนินความรุนแรงที่มีคำอธิบายทางศาสนารองรับไว้ในลักษณะเช่นที่กล่าวมานั้นคือ หนทางไปสู่สวรรค์นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การกล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่าศาสนาเป็นสาเหตุของความรุนแรง และทั้งมิได้หมายความว่า ความรุนแรงทางศาสนาเท่านั้น หากแต่ปรากฏการณ์เช่นนี้กำลังบอกแก่เราว่าศาสนาทำให้เกิดความเชื่อและสัญลักษณ์ และรวมถึงเอกลักษณ์ที่ทำให้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ชอบธรรมได้ ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้มิได้เกิดกับศาสนาใดศาสนาหนึ่งเท่านั้น หากแต่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกศาสนา และไม่ว่าจะเป็นพุทธจารีตนิยม คริสต์จารีตนิยม หรืออิสลามจารีตนิยม ก็ดูจะไม่แตกต่างกันในทัศนะที่มองในเรื่องของความรุนแรง เพราะศาสนาสามารถทำให้เกิด “ทรัพยากรทางด้านอุดมการณ์”เพื่อนำไปสู่การสร้างรูปการจิตสำนึกและรวมทั้งมีส่วนโดยตรงต่อการกำหนดโลกทัศน์ด้วย

ตัวอย่างของทัศนะในการมองโลกไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของ บิน ลาเดน กลุ่มโอมชินริเกียว หรือกลุ่มติดอาวุธของชาวคริสต์ ดูจะไม่แตกต่างกันในการมีทัศนะต่อ “ระเบียบโลกใหม่” ซึ่งทัศนะเช่นนี้ได้มีส่วนที่ทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้านสหรัฐไปด้วย และในบางกรณีทัศนะดังกล่าวยังถูกผนวกกับ “ลัทธิเผ่าพันธุ์ชาตินิยม” (Ethno nationalism) เช่น ในกรณีความขัดแย้งในปัญหาแคชเมียร์

นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นยังนำไปสู่การขาดความเชื่อมั่นต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของตะวันตก และอาจจะรวมถึงการต่อต้านตะวันตกในเรื่องต่าง ๆ อีกด้วยและทั้งการมีทัศนะที่เห็นว่าตะวันตกคือตัวแทนของความชั่วร้าย สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีต่อการทำให้พวกจารีตนิยมของศาสนาต่าง ๆ พร้อมที่จะใช้ความรุนแรงเข้าจัดการกับสิ่งที่พวกเขามองเห็นว่าเป็นปัญหา ซึ่งเหตุการณ์กรณีตึกเวิลด์เทรดฯ และตึกเพนตากอน ในเดือนกันยายนของปีที่แล้ว ก็คือ ภาพสะท้อนถึงสิ่งที่กล่าวมาแล้วในข้างต้นนั้นเอง

ดังนั้น ปรากฏการณ์ของ “พันธมิตรด้านมืด” ระหว่างศาสนากับความรุนแรงจะเป็นประเด็นสำคัญของการเมืองโลกในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะในสภาวะที่การต่อสู้ในเวทีโลกยังไม่มีอุดมการณ์ใดเป็นพลังขับเคลื่อนที่จะท้าทายต่อการเคลื่อนตัวของโลกทุนนิยมได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วศาสนาจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะอุดช่องว่างนี้ ดังจะเห็นได้ชัดเจนว่า ศาสนาคือพลังสำคัญที่ก่อให้เกิดศรัทธาและความเชื่อในชีวิตมนุษย์โดยทั่วไป หากแต่แนวโน้มของพลังจากศรัทธาและความเชื่อในศาสนากำลังถูกแปลงให้เป็น “พลังการเมือง” ในอีกรูปแบบหนึ่ง และที่สำคัญก็คือ พลังนี้ได้กลายเป็นรากฐานโดยตรงของ “ลัทธิก่อการร้ายศาสนานิยม” ฉะนั้น เหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโลกในปัจจุบัน จึงเป็นเพียงภาพสะท้อนหนึ่งของปัญหา “สงครามศาสนา” ที่โลกกำลังเผชิญในอนาคตนั่นเอง

ใส่ความเห็น